logo

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : รองช้ำ / พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ

รองช้ำ หรือ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis) คือ โรค/ภาวะที่มีอาการเจ็บ/ปวดเรื้อรังที่ส้นเท้า (Heel pain) และ/หรือ เจ็บ/ปวดเรื้อรังที่ฝ่าเท้า โดยเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง หรือ การเสื่อมของแผ่นพังผืด/แผ่นเอ็นกระดูกที่รองรับฝ่าเท้า ซึ่งอาการมักเป็นกับเท้าข้างเดียว แต่ในบางคนพบเกิดอาการทั้ง 2 เท้าได้ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดรองช้ำ/พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ที่พบบ่อย คือ

  • การใช้งานเท้าอย่างหนัก ซ้ำๆ ต่อเนื่อง เช่น อาชีพที่ต้องเดินทั้งวัน
  • ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบนผิดปกติ / โค้งสูงผิดปกติ / ความยาวเท้าหรือขาสองข้างไม่เท่ากัน
  • เอ็นร้อยหวายบาดเจ็บ / อักเสบ
  • กระดูกส้นเท้างอก / ร้าว
  • ถุงลดเสียดสีของเอ็นกล้ามเนื้อของข้อเท้าและ/หรือเท้าอักเสบ
  • ข้อกระดูกเท้าอักเสบจากสาเหตุต่างๆ เช่น ข้อเสื่อม โรคข้อรูมาตอยด์
  • โรคเส้นประสาทของเท้า
  • หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะส่งผลให้เท้า/พังผืดฝ่าเท้าต้องรองรับน้ำหนักตัวสูงต่อเนื่อง
  • สวมร้องเท้าไม่เหมาะสม เช่น ส้นเตี้ยแบบไม่มีส้น หรือเดินเท้าเปล่าเสมอ
  • คนที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือผู้ป่วยนอนติดเตียง
  • อายุ: วัยที่มีการเสื่อมของเซลล์ร่างกายทุกชนิดรวมพังผืดฝ่าเท้า

อาการของรองช้ำโดยทั่วไปมักเกิดกับฝ่าเท้าข้างเดียว ซ้ายหรือขวามีโอกาสเกิดได้เท่ากันขึ้นกับลักษณะการถนัดใช้เท้าซ้ายหรือขวาของแต่ละคน แต่บางคนอาจเกิดอาการทั้ง 2 ข้างก็ได้ ซึ่งได้แก่

ก. อาการพบบ่อย ประมาณ 80%-90%ของผู้ป่วย: คือ

  • เจ็บใต้เท้า/เจ็บฝ่าเท้า/ใต้ฝ่าเท้า และ/หรือ เจ็บใต้ส้นเท้า
  • อาการเจ็บมักเริ่มเกิดตั้งแต่เริ่มก้าวเท้าลงจากเตียงเมื่อตื่นนอนเช้า หรือหลังจากพักใช้เท้าเป็นระยะเวลานานๆ เช่น หลังจากก้าวแรกจากการนั่งรถนานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง ซึ่งอาการเจ็บที่เกิดขึ้นนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากการเดินได้ 2-3 นาทีไปแล้ว คือ เมื่อมีการยืดของพังผืดฝ่าเท้า แต่จะกลับมาเจ็บมากขึ้นเมื่อใช้เท้ามากขึ้น
  • อาการเจ็บจะมากขึ้นหลังเพิ่งหยุดใช้งานเท้า (ไม่ใช่ระหว่างใช้งานเท้า)
  • อาการเจ็บคงอยู่ต่อเนื่องเป็นเดือนหรือหลายเดือน

ข. อาการที่พบน้อยกว่าอาการดังกล่าวในข้อ ก: คือ เจ็บกลางฝ่าเท้า อาการเจ็บอาจร้าวขึ้นมาถึงหลังเท้า

ค. อาการพบน้อย: เช่น บวมฝ่าเท้า และ/หรือ มีเสียงใต้ฝ่าเท้าเมื่อเคลื่อนไหวเท้า ชาฝ่าเท้า ปวดเสียวฝ่าเท้า

  • ปรับพฤติกรรม กิจกรรม ที่ต้องใช้เท้าซ้ำๆ ต่อเนื่อง ต้องหาเวลาพักการใช้เท้าเป็นระยะๆ
  • ปรับเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสมตามที่แพทย์ศัลยกรรมกระดูกหรือนักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • ทำกายภาพบำบัดเท้าด้วยตนเองสม่ำเสมอตลอดไป
  • พักใช้งานเท้า ลดการ ยืน เดิน วิ่ง
  • ประคบเย็นฝ่าเท้าเป็นระยะๆ นานครั้งละประมาณ 15-20 นาที วันละประมาณ 3-4 ครั้ง
  • การรับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ตามแพทย์/เภสัชกรแนะนำ